พระพุทธบาทตากผ้า

พระพุทธบาทงามละออ กราบไหว้ พระพุทธบาทตากผ้า อำเภอป่าซาง

ผ้าทอ

ผ้าทอหัตถกรรม ผ้าฝ้ายทอมือขึ้นชื่อป่าซาง เที่ยวชมผ้าฝ้าย .

ประเพณีงาม

งามล้ำประเพณี ประเพณีแห่ครัวตาน สงกรานต์ แห่ลูกแก้ว.

ผลผลิตทางการเกษตร

ลำไยรสหวาน ขึ้นชื่อลือชา แหล่งผลิตลำไยส่งออก.

แหล่งท่องเที่ยว

เที่ยว กิน ดื่ม แม่วังส้าน อำเภอป่าซาง.

วันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558

นางสาวบัวจันทร์ นันทขว้าง

นางสาวบัวจันทร์ นันทขว้าง
ภาพถ่ายเมื่อปี พ.ศ.2478 โดยนางสาวบัวจันทร์ นันทขว้าง ได้เข้าร่วมประกวดนางงาม จังหวัดลำพูน และได้รางวัลที่ 1 จากงานฉลองวันรัฐธรรมนูญ ซึ่งในการประกวดนางสาวลำพูนจะถูกส่งไปเป็นตัวแทนจังหวัด เข้าประกวดนางสาวถิ่นไทยงามที่เชียงใหม่ หรือไปประกวดนางสาวไทยที่กรุงเทพ

นางงามลำพูนมักจะอยู่คู่กับโรงทอผ้าเสมอ เพราะโรงทอผ้าส่วนใหญืจะเป็นผู้ให้การสนับสนุนและส่งนางงามเข้าประกวด ทำให้ย่านป่าซางซึ่งเป็นตลาดขายสินค้ามีชื่อเสียงว่า หญิงป่าซางสวย เนื่องมาจากการที่นางงามลำพูนได้เข้ามาทำหน้าที่ในการขายผ้าในย่านป่าซางนั่นเอง

นางสาวสุชีลา ศรีสมบูรณ์

สุชีลา ศรีสมบูรณ์


 การประกวดนางสาวไทย เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2477 ในโอกาสงานฉลองรัฐธรรมนูญ ซึ่งสมัยก่อนทางราชการกำหนดจัดให้มีงานฉลองรัฐธรรมนูญทั้งประเทศหลายวัน ในประมาณช่วงวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งในยุคก่อนจะใช้ชื่อการประกวดว่า "นางสาวสยาม" สาวงามที่เข้าประกวดทุกคนหน่วยงานราชการจะเป็นผู้ส่ง ส่วนนางงามจากต่างจังหวัดก็ให้ส่วนราชการของจังหวัดส่งเข้ามา



 สุชีลา ศรีสมบูรณ์ หรือ สมบูรณ์ ศรีบุรี ในวัย 17 ปี สาวจากเมืองลำพูนมีโอกาสเข้าประกวดนางสาวถิ่นไทยงามในปี พ.ศ.2496 ด้วยการคว้าตำแหน่งรองนางสาวถิ่นไทยงาม อันดับ 1 มาครอง โดยมีพรรณี ภัคดีเป็นนางสาวถิ่นไทยงามในปีนั้น จากนั้นอีก 1 ปี สุชีลาได้รับการทาบทามจากคุณอวยพร ปัตตะพงษ์ ให้ไปประกวดนางสาวไทยโดยมีธนาคารออมสิน สาขาภาค 6 เชียงใหม่ให้การสนับสนุน 



ด้วยความพร้อมของสุชีลา ไม่ว่าจะเป็นใบหน้าที่หวานเด่น ผิวนวลผ่องใสตามแบบฉบับของสาวเหนือ รูปร่างที่เต็มตึงสมส่วน เสื้อผ้าอาภรณ์อันวิจิตรงดงามซึ่งได้รับการออกแบบตัดเย็บอย่างปราณีตจากผู้มีฝีมือยอดเยี่ยมในยุคนั้นคือ คุณหญิงจุไร ลืออำรุง ยศวดี บุญหลงและสปัน เธียรประสิทธิ์ รวมทั้งการทำผมแต่งหน้าโดยช่างจากร้านเจือจันทร์ บางขุนพรหม ทำให้สุชีลาได้รับการกล่าวขานให้เป็นตัวเก็งเต็งหนึ่ง ตั้งแต่การประกวดรอบแรก

ขณะที่บรรยากาศของการประกวดนางสาวไทยในปี พ.ศ.2497 สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นช่างน่ารักน่าเอ็นดูชนิดที่เรียกว่าหาไม่ได้แล้วในยุคปัจจุบันคือ ผู้ชมจะตะโกนเรียกชื่อสาวงามที่ตนเชียร์ พร้อมทั้งปรมมือให้กำลังใจ และสาวงามก็จะโปรยยิ้มอย่างจริงใจแทนคำขอบคุณ ทั้งคนเดิน คนดูต่างก็มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส 

สุชีลา เล่าว่า บรรยากาศการประกวดนางสาวไทยในปีนั้น จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 - 18 ธันวาคมใช้สวนลุมพินีเป็นสถานที่ประกวด เก็บค่าดูคนละ 5 บาท 10 บาท 20 บาทและ 100 บาท มีพระมนูญเวทย์วิมลนาท ประธานศาลฏีกา เป็นประธานกรรมการตัดสิน และเป็นไปตามที่สื่อมวลชนคาดหมายเมื่อ กาลัญ อมาตยกุล โฆษกประจำงานประกาศให้นาวสาวไทย คนที่ 13 ประจำปี 2497 คือ สุชีลา ศรีสมบูรณ์ พร้อมรองทั้ง 4 คนคือ จงดี วิเศษฤทธิ์ อุทัยวรรณ เทพจินดา ระเบียบ อาชนะโยธินและวาสนา รอดศิริ

พระยารามราชภักดี ได้เชิญท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ขึ้นสวมมงกุฎให้กับนางสาวไทย พร้อมมอบถ้วยเงินใบใหญ่ แหวนเพชร จักรเย็บผ้าซิงเกอร์ เข็มขัดนาก ทองคำหนัก 4 บาทและเงินรางวัลอีก 20,000 บาท"ความรู้สึกตอนนั้นไม่คิดว่าตัวเองจะได้เป็นนางสาวไทยแต่อย่างใด มันงงบอกไม่ถูกนะ คุณอวยพรที่ส่งเราเข้าประกวดก็หวังเพียงติด 1 ใน 5 ก็พอใจแล้ว แต่พอประกวด ๆ ไปแล้วดิฉันกลายเป็นเต็งหนึ่ง"

หลังจากได้รับตำแหน่งนางสาวไทยพร้อมรองทั้ง 4 คนต้องออกปฏิบัติภารกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งตระเวนตามงานกุศลและแวะเยี่ยมขอบคุณผู้ให้การสนับสนุน หลังจากปีนั้นเป็นต้นมาก็ไม่มีการประกวดนางสาวไทยเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจบ้านเมืองตกต่ำ กระทั่งการประกวดนางสาวไทยได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้งในปี พ.ศ.2507 นับได้ว่าสุชีลาเป็นนางสาวที่ครองตำแหน่งนานที่สุดถึง 10 ปี

กว่า 50 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าวันนี้สุชีลาจะหันหลังให้กับวงการมายา เลือกมุ่งหน้าทำธุรกิจโรงแรมอยู่ในจังหวัดกำแพงเพชร อันเป็นวิถีชีวิตที่เงียบสงบ แต่เชื่อแน่ว่าชื่อของ สุชีลา ศรีสมบูรณ์ หรือ สมบูรณ์ ศรีบุรี อดีตนางสาวไทยคนลำพูนคนนี้จะยังคงอยู่ในความทรงจำของคนไทยอย่างมิอาจลืมเลือนไปได้



เอกสารอ้างอิง
www.thailandpageant.com
นิตยสารสกุลไทย,29 มีนาคม 2537
อ้างอิง
จักรพงษ์ คำบุญเรือง เว็บไซต์ http://www.lannacorner.net/lanna2012/article/article.php?type=A&ID=627