วันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558

นางสาวสุชีลา ศรีสมบูรณ์

สุชีลา ศรีสมบูรณ์


 การประกวดนางสาวไทย เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2477 ในโอกาสงานฉลองรัฐธรรมนูญ ซึ่งสมัยก่อนทางราชการกำหนดจัดให้มีงานฉลองรัฐธรรมนูญทั้งประเทศหลายวัน ในประมาณช่วงวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งในยุคก่อนจะใช้ชื่อการประกวดว่า "นางสาวสยาม" สาวงามที่เข้าประกวดทุกคนหน่วยงานราชการจะเป็นผู้ส่ง ส่วนนางงามจากต่างจังหวัดก็ให้ส่วนราชการของจังหวัดส่งเข้ามา



 สุชีลา ศรีสมบูรณ์ หรือ สมบูรณ์ ศรีบุรี ในวัย 17 ปี สาวจากเมืองลำพูนมีโอกาสเข้าประกวดนางสาวถิ่นไทยงามในปี พ.ศ.2496 ด้วยการคว้าตำแหน่งรองนางสาวถิ่นไทยงาม อันดับ 1 มาครอง โดยมีพรรณี ภัคดีเป็นนางสาวถิ่นไทยงามในปีนั้น จากนั้นอีก 1 ปี สุชีลาได้รับการทาบทามจากคุณอวยพร ปัตตะพงษ์ ให้ไปประกวดนางสาวไทยโดยมีธนาคารออมสิน สาขาภาค 6 เชียงใหม่ให้การสนับสนุน 



ด้วยความพร้อมของสุชีลา ไม่ว่าจะเป็นใบหน้าที่หวานเด่น ผิวนวลผ่องใสตามแบบฉบับของสาวเหนือ รูปร่างที่เต็มตึงสมส่วน เสื้อผ้าอาภรณ์อันวิจิตรงดงามซึ่งได้รับการออกแบบตัดเย็บอย่างปราณีตจากผู้มีฝีมือยอดเยี่ยมในยุคนั้นคือ คุณหญิงจุไร ลืออำรุง ยศวดี บุญหลงและสปัน เธียรประสิทธิ์ รวมทั้งการทำผมแต่งหน้าโดยช่างจากร้านเจือจันทร์ บางขุนพรหม ทำให้สุชีลาได้รับการกล่าวขานให้เป็นตัวเก็งเต็งหนึ่ง ตั้งแต่การประกวดรอบแรก

ขณะที่บรรยากาศของการประกวดนางสาวไทยในปี พ.ศ.2497 สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นช่างน่ารักน่าเอ็นดูชนิดที่เรียกว่าหาไม่ได้แล้วในยุคปัจจุบันคือ ผู้ชมจะตะโกนเรียกชื่อสาวงามที่ตนเชียร์ พร้อมทั้งปรมมือให้กำลังใจ และสาวงามก็จะโปรยยิ้มอย่างจริงใจแทนคำขอบคุณ ทั้งคนเดิน คนดูต่างก็มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส 

สุชีลา เล่าว่า บรรยากาศการประกวดนางสาวไทยในปีนั้น จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 - 18 ธันวาคมใช้สวนลุมพินีเป็นสถานที่ประกวด เก็บค่าดูคนละ 5 บาท 10 บาท 20 บาทและ 100 บาท มีพระมนูญเวทย์วิมลนาท ประธานศาลฏีกา เป็นประธานกรรมการตัดสิน และเป็นไปตามที่สื่อมวลชนคาดหมายเมื่อ กาลัญ อมาตยกุล โฆษกประจำงานประกาศให้นาวสาวไทย คนที่ 13 ประจำปี 2497 คือ สุชีลา ศรีสมบูรณ์ พร้อมรองทั้ง 4 คนคือ จงดี วิเศษฤทธิ์ อุทัยวรรณ เทพจินดา ระเบียบ อาชนะโยธินและวาสนา รอดศิริ

พระยารามราชภักดี ได้เชิญท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ขึ้นสวมมงกุฎให้กับนางสาวไทย พร้อมมอบถ้วยเงินใบใหญ่ แหวนเพชร จักรเย็บผ้าซิงเกอร์ เข็มขัดนาก ทองคำหนัก 4 บาทและเงินรางวัลอีก 20,000 บาท"ความรู้สึกตอนนั้นไม่คิดว่าตัวเองจะได้เป็นนางสาวไทยแต่อย่างใด มันงงบอกไม่ถูกนะ คุณอวยพรที่ส่งเราเข้าประกวดก็หวังเพียงติด 1 ใน 5 ก็พอใจแล้ว แต่พอประกวด ๆ ไปแล้วดิฉันกลายเป็นเต็งหนึ่ง"

หลังจากได้รับตำแหน่งนางสาวไทยพร้อมรองทั้ง 4 คนต้องออกปฏิบัติภารกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งตระเวนตามงานกุศลและแวะเยี่ยมขอบคุณผู้ให้การสนับสนุน หลังจากปีนั้นเป็นต้นมาก็ไม่มีการประกวดนางสาวไทยเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจบ้านเมืองตกต่ำ กระทั่งการประกวดนางสาวไทยได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้งในปี พ.ศ.2507 นับได้ว่าสุชีลาเป็นนางสาวที่ครองตำแหน่งนานที่สุดถึง 10 ปี

กว่า 50 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าวันนี้สุชีลาจะหันหลังให้กับวงการมายา เลือกมุ่งหน้าทำธุรกิจโรงแรมอยู่ในจังหวัดกำแพงเพชร อันเป็นวิถีชีวิตที่เงียบสงบ แต่เชื่อแน่ว่าชื่อของ สุชีลา ศรีสมบูรณ์ หรือ สมบูรณ์ ศรีบุรี อดีตนางสาวไทยคนลำพูนคนนี้จะยังคงอยู่ในความทรงจำของคนไทยอย่างมิอาจลืมเลือนไปได้



เอกสารอ้างอิง
www.thailandpageant.com
นิตยสารสกุลไทย,29 มีนาคม 2537
อ้างอิง
จักรพงษ์ คำบุญเรือง เว็บไซต์ http://www.lannacorner.net/lanna2012/article/article.php?type=A&ID=627


1 ความคิดเห็น:

  1. ภาพแรกเป็นภาพของเราเองค่ะ
    https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=tuk-tukatkorat&month=02-2011&date=28&group=31&gblog=10

    ตอบลบ